วันที่: 28-08-2013
บทพระราชทานสัมภาษณ์พิเศษ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เมื่อครั้งยังดำรงพระราชอิสริยยศ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเทพรัตนสุดา
เกี่ยวกับมูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
โดย นายอัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์
จากหนังสือ ในหลวงของเรา
ผู้ขอพระราชทานสัมภาษณ์
“เนื่องในโอกาสที่ข้าพระพุทธเจ้าจะจัดทำหนังสือเทิดทูนพระเกียรติ ชื่อ “ในหลวงของเรา” เพื่อจำหน่ายโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ โดยเสด็จพระราชกุศล สมทบทุนมูลนิธิสายใจไทย ขอพระราชทานกราบทูลถามถึงประวัติและความเป็นมาของมูลนิธิสายใจไทยฯ ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งบัดนี้พ่ะย่ะค่ะ?”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยพระราชทานความช่วยเหลือทหาร ตำรวจและราษฎรอาสาสมัครที่ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศชาติมานานแล้ว ทั้งในด้านอาหารการกินและการฝึกงาน ได้เสด็จ พระราชดำเนินไปเยี่ยมทหารผู้ปฏิบัติหน้าที่บ่อยๆ บางครั้งข้าพเจ้าก็ได้โดยเสด็จไปด้วย เมื่อมีทหารตำรวจที่บาดเจ็บมาที่โรงพยาบาลก็มักจะมีเงินพระราชทานหรือพระราชทานความช่วยเหลือ
ก่อนที่จะมีมูลนิธิสายใจไทยนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงมีพระราชหฤทัยรำลึกถึงทหาร ตำรวจและราษฎรอาสาสมัครผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติจนทุพพลภาพ ไม่สามารถที่จะประกอบอาชีพเป็นปกติเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ จึงทรงมีพระราชปรารภถึงการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยการครองชีพของผู้เสียสละเหล่านี้ เป็นการตอบแทนคุณงามความดีของเขา ในวันเกิดของข้าพเจ้าเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๑๘ มีการจัดงานเลี้ยงน้ำชา เชิญทหารตำรวจบาดเจ็บที่โรงพยาบาล พระมงกุฎเกล้าและโรงพยาบาลตำรวจมาเลี้ยงอาหารว่าง มีวงดุริยางค์ทหารเรือมาบรรเลงเพลงรักชาติ
นอกจากนี้ยังได้เชิญแขกผู้มีเกียรติทั้งหลายมาในงานโดยขอร้องให้ช่วยกันดูแลเหล่าทหารที่ไม่สามารถลุกไปไหนๆ ได้ และเชิญชวนให้บริจาคเงินช่วยเหลือทหารตำรวจ เป็นการโดยเสด็จพระราชกุศล และรวบรวมเงินส่วนที่มีผู้บริจาคส่วนที่พระราชทานรวมทั้งเงินส่วนตัวเข้ามูลนิธิ ซึ่งต่อมาจดทะเบียนตามกฎหมายและได้รับพระราชทานนามว่า มูลนิธิสายใจไทย พร้อมทั้งรับเข้าไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์”
ผู้ขอพระราชทาน
“สิ่งใดคือแรงบันดาลพระทัยให้ทูลกระหม่อมทรงช่วยมูลนิธินี้พ่ะย่ะค่ะ?”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ
“ตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วว่า ประเทศไทยคือบ้านคนไทยทุกคนเป็นท้องถิ่นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นจึงเป็นที่ต้องประสงค์ของบุคคลอื่นๆ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ถือตัวว่าเป็นคนไทย ที่จะร่วมกันรักษา และพัฒนาให้เจริญโดยไม่มีการแบ่งแยก ผู้ที่เป็นทหาร ตำรวจ หรือพลเรือนที่ทำหน้าที่ป้องกันประเทศชาติ ได้ทำหน้าที่นี้โดยตรง คือได้เอาชีวิต เลือดเนื้อเป็นเดิมพัน ส่วนบุคคลอื่นที่ไม่ได้ทำหน้าที่เช่นนี้ก็ต้องมีส่วนร่วมในการป้องกันชาติเหมือนกัน และจะทำได้โดยการสนับสนุนและให้กำลังใจต่อบุคคลที่ไปปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไปทำหน้าของเขาจนเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ
ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า วิธีการของมูลนิธิสายใจไทยเป็นวิธีการที่ดีอย่างหนึ่ง ในการช่วยเหลือบุคคลในชาติเดียวกัน ด้วยน้ำพักน้ำแรง ด้วยทุนทรัพย์ การช่วยเหลือบุคคลในชาติเดียวกันนี้เปรียบเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน มีมูลนิธิสายใจไทยเป็นสื่อกลางช่วยอำนวยความสะดวก”
ผู้ขอพระราชทานสัมภาษณ์
“มูลนิธิสายใจไทยเป็นหน่วยงานใหญ่ที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทหารตำรวจและพลเรือนที่บาดเจ็บและทุพพลภาพเป็นจำนวนมาก ในการนี้ทูลกระหม่อมทรงได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากบุคคลกลุ่มใดบ้าง พ่ะย่ะค่ะ?”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ
“บุคคลที่ให้การสนับสนุนมีมากด้วยกัน กล่าวคือคนทั้งประเทศ หน่วยราชการที่เกี่ยวกับการทหาร เช่น ผู้บังคับบัญชาของทหารทุกกรมกองทุกหน่วยที่ช่วยส่งรายชื่อผู้เจ็บป่วย ตาย มาให้มูลนิธิ โรงพยาบาลต่างๆ ที่มีทหาร ตำรวจ ไปบาดเจ็บรวมทั้งแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ หน่วยราชการใดที่พอจะช่วยในทางใดก็เข้าช่วยในการโฆษณาด้วยคณะกรรมการมูลนิธิ และภรรยาก็ได้ช่วยเหลืออย่างเข้มแข็งมาก รวมทั้งธนาคาร บริษัท ห้างร้าน ประชาชนทั่วๆ ไปก็ช่วยสนับสนุนงานของมูลนิธิตลอดมา”
ผู้ขอพระราชทานสัมภาษณ์
“มูลนิธิมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาช่วยเหลือผู้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลืออย่างใดบ้าง และมูลนิธินี้มีผลประโยชน์ประการใดบ้าง พ่ะย่ะค่ะ?”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ
“มูลนิธิได้มอบเงินแก่ทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนและอาสาสมัคร ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือ คือให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ๕,๐๐๐ บาท ผู้ที่บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลจะได้รับเงินเยี่ยม ๑,๐๐๐ บาท และหลังจากนั้นจะพิจารณาให้เงินเดือนผู้บาดเจ็บทุพพลภาพหรือพิการ เป็นเงินเดือนเดือนละ ๓๐๐ – ๗๕๐ บาท ตามความพิการ
ผู้ที่ได้รับเงินสายใจไทยจะต้องกรอกใบสอบถาม แจ้งสภาพความเป็นไปในครอบครัวบางประการ เพื่อมูลนิธิจะได้พิจารณาช่วยเหลือเป็นรายๆ ตามความจำเป็น เช่นในเรื่องของบุตร เป็นต้น
ประโยชน์ที่ได้รับ คือ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติเหล่านี้จะไม่ถูกทอดทิ้ง จะได้รับความช่วยเหลือทันท่วงทีทั้งในส่วนของสายใจไทย และในส่วนราชการ ทำให้มีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นอีกด้วย รวมทั้งการบริจาคเงินนี้มีส่วนทำให้เกิดความสามัคคีในชาติ กระตุ้นเตือนให้ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองร่วมกัน”
ผู้ขอพระราชทานสัมภาษณ์
“การช่วยเหลือของมูลนิธิโดยการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและทุพพลภาพเป็นภาระที่ทำให้มูลนิธิต้องจัดการเงินมาใช้จ่ายในโครงการ อยากใคร่ขอพระราชทานกราบทูลถึงโครงการที่จะปฏิบัติต่อไป พ่ะย่ะค่ะ?”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ
“จะทำการสงเคราะห์ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและทุพพลภาพให้มากและจริงจังกว่า เช่นการศึกษาของบุตร เป็นต้น
ในการอาชีพของผู้ทุพพลภาพจะได้สร้างสถานฝึกงาน งานแรกที่จะให้ทำได้แก่การตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งเมื่อทำแล้วจะได้ตลาดในทันที กล่าวคือ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงซื้อเสื้อผ้าเป็นจำนวนปีละมากๆ อยู่แล้วเพื่อแจกจ่ายราษฎร
นอกจากนั้น ในอนาคตผู้ทุพพลาภพจะได้ฝึกอาชีพอื่นๆ ทางด้านช่วงฝีมือตามโครงการมูลนิธิศีลปาชีพ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือส่งเสริมอาชีพของประชาชน”
ผู้ขอพระราชทานสัมภาษณ์
“ตั้งแต่ก่อตั้งมูลนิธิจนกระทั่งบัดนี้ ทูลกระหม่อมทรงพบปัญหาและความลำบากอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานของมูลนิธิ พ่ะย่ะค่ะ?”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ
“ในตอนแรกตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะให้มูลนิธิเป็นเสมือนหัวหน้าครอบครัวแทนหัวหน้าครอบครัวที่ทุพพลภาพหรือเสียชีวิตไป ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วทำได้ยากมาก (ถ้าจะทำให้ยุติธรรมเต็มที่) ในที่สุดตกลงกันว่าจะให้เงินตามอัตราความทุพพลภาพ อัตราเงินที่จะให้นั้นสุดแต่จำนวนเงินที่มีอยู่ ขณะนี้มูลนิธิเพิ่งตั้งมาได้เพียงปีเศษๆ สภาพการเงินยังไม่มั่นคงพอ การใช้จ่ายจะให้มากกว่านี้ไม่ได้
ความลำบากประการที่สอง คือ การพิจารณาว่าบุคคลใดเข้าข่ายที่จะได้รับเงินจากมูลนิธิ มูลนิธิมีกฎข้อบังคับตายตัวตามตราสาร แต่ว่าบางครั้งการพิจารณาว่าบุคคลใดควรเข้าข่ายได้รับเงินจากมูลนิธิสายใจไทยนั้น ก็ต้องอาศัยวิจารณญาณของผู้บังคับบัญชา และของกรรมการมูลนิธิ ซึ่งจะพิจารณาให้เป็นรายๆ ไป
อุปสรรคที่ประการที่สาม คือ การขาดคนที่จะมาจัดการดำเนินงาน เช่นการติดต่อโรงเรียนของบุตรผู้เสียชีวิต และทุพพลภาพ ประชาสัมพันธ์ การรับบริจาค คณะกรรมการแต่ละคนล้วนแต่เป็นผู้มีหน้าที่การงานของตนอื่นๆ แล้วทั้งสิ้น และงานทางสายใจไทยก็ล้นมือ แต่ครั้นจะตั้งให้มีกรรมการมากๆ ก็เกรงจะทำให้สับสนและการประสานงานจะเป็นไปได้ยากขึ้น
ผู้ขอพระราชทานสัมภาษณ์
“ถ้ามีประชาชนที่ทราบถึงจุดมุ่งหมายและประโยชน์ของมูลนิธิและอยากให้มีความสนับสนุนมูลนิธิ จะให้ความสนับสนุนอย่างไร พ่ะย่ะค่ะ?”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ
“ทำได้หลายอย่าง เช่น ร่วมบริจาคเงินสมทบทุน แสดงไมตรีจิตต่อผู้ไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ เช่นไปเยี่ยมให้กำลังใจเมื่อมาอยู่โรงพยาบาลเป็นครั้งคราว เขียนจดหมายให้กำลังใจ จัดของให้ทหาร เป็นต้น”
ผู้ขอพระราชทานสัมภาษณ์
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภอย่างไรเกี่ยวกับการกระทำตัวของสมัยใหม่พ่ะย่ะค่ะ?”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ
“ไม่เข้าใจคำถามชัดเจนนัก แต่เข้าใจว่า สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่โปรด คือ การกระทำที่ผิดทำนองคลองธรรม ไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อประชาชนชาวไทย”
ผู้ขอพระราชทานสัมภาษณ์
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราโชวาทเพื่อถือเป็นหลักในการปฏิบัติงานอย่างไรพ่ะย่ะค่ะ?”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ
“พระบรมราโชวาท ส่วนใหญ่เป็นหลักตามพุทธศาสนา เช่น หลักของการเสียสละ ซึ่งมีทั้งการเสียสละสิ่งของ สละความสุขส่วนตัว ฯลฯ หรือหลักในการปฏิบัติงาน เช่น ความสังเกตให้มีความคิดที่จะใช้สิ่งที่มีอยู่ปรับปรุงให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม”
ผู้ขอพระราชทานสัมภาษณ์
“การทรงช่วยแบ่งเบาภาระของล้นเกล้าฯ ทั้ง ๒ พระองค์ โดยการตามเสด็จไปในงานพระราชพิธีต่างๆ หรือตามเสด็จประพาสเยี่ยมราษฎรในเขตทุรกันดารหรือในดงผู้ก่อการร้าย ตลอดจนเสด็จแทนพระองค์ไปในงานพระราชพิธีใหญ่ๆ ในต่างประเทศ ทูลกระหม่อมทรงถือว่าเป็นหน้าที่แน่นอนที่ต้องปฏิบัติตามหรือทรงมีพระราชดำริอย่างไรเกี่ยวกับพระราชภาระเหล่านี้ พ่ะย่ะค่ะ?”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ
ช่วยแล้วแต่จะทรงใช้ในงานจิปาถะต่างๆ ไม่ได้มีหน้าที่แน่นอน นอกจากได้สนองพระเดชพระคุณในการคอยดูแลสอดส่องทุกข์และให้กำลังใจประชาชน คอยดูในด้านงานอาชีพ”
ผู้ขอพระราชทานสัมภาษณ์
“ประชาชนส่วนใหญ่ใคร่จะเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชเกษมสำราญ ไม่อยากจะเห็นว่าพระองค์ท่านทรงตรากตรำพระวรกายในการเสด็จประพาสตามที่ต่างๆ ที่ทุรกันดารเต็มไปด้วยภัยอันตรายจากผู้ก่อการร้าย ทูลกระหม่อมทรงคิดว่ามีทางใดบ้างที่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินจะสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านได้บ้าง พ่ะย่ะค่ะ?”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ
“เวลาที่ทรงพระสำราญ คือ เวลาที่เสด็จออกวางโครงการพัฒนาประเทศ และเห็นว่าพระราชดำริคงจะมีประโยชน์ต่อประชาชนในเวลาที่เห็นผลจากโครงการต่างๆ อีกประการหนึ่ง สิ่งที่ทำให้ทรงพระสำราญคือการที่ได้ทอดพระเนตรเห็นประชาชนมีน้ำใจต่อท่านและประชาชนด้วยกัน
ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินจะมีส่วนร่วมช่วยพระองค์ท่านได้โดยการช่วยตนเอง ช่วยเพื่อนร่วมชาติคนอื่นๆ มีความรักความสามัคคีกัน ทำตนเป็นพลเมืองดี เห็นแก่ชาติบ้านเมือง”
ผู้ขอพระราชทานสัมภาษณ์
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนะนำหรืออบรมทูลกระหม่อมอย่างไรบ้าง พ่ะย่ะค่ะ?”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ
“พระราชทานคำแนะนำในทุกด้านที่ไปทูลถาม เพราะทรงทราบทุกเรื่อง นอกจากนั้นยังทรงสนับสนุนในการค้นคว้าหาความรู้ แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ทรงสนับสนุนให้ใช้ความคิดในทุกด้าน ไม่เคยทรงเบื่อที่จะฟังการออกความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ จะทรงช่วยวิจารณ์ความคิดนั้นๆ และพระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมด้วย”
|
|
|