วันที่: 27-08-2013
พระราชประวัติ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ ๓ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์
ด้วยเหตุที่ทรงบำเพ็ญพระราชกิจจานุกิจนานัปการอันเป็นประโยชน์แก่แผ่นดินและราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สถาปนาพระราชอิสริยยศ และพระราชอิสริยศักดิ์ เป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐ และจากพระวิริยะอุตสาหะในการทรงศึกษาหาความรู้และบำเพ็ญพระราชกิจนานัปการ พระเกียรติคุณ เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้ง ทั้งในราชอาณาจักร และนานาชาติ จึงทรงรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แห่งราชอาณาจักรไทย และทรงรับการทูลเกล้า ฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
การศึกษา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มต้นการศึกษาระดับอนุบาล เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๑ ณ โรงเรียนจิตรลดา ในเขตพระราชฐาน พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โดยทรงศึกษา ต่อเนื่องไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา ตลอดระยะเวลาที่ทรงศึกษา ทรงเอาพระทัยใส่ในการเรียน โปรดการอ่าน และการศึกษาวรรณคดี ทั้งของไทยและต่างประเทศ ทรงเริ่มแต่งคำประพันธ์ต่าง ๆ ทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง ตั้งแต่ยังทรงศึกษา ในชั้นประถมศึกษา โปรดการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน ทั้งด้านกีฬา ดนตรี บันเทิง และกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์
หลังจากทรงสำเร็จการศึกษา ประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะ จากโรงเรียนจิตรลดา เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๖ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสอบเข้าศึกษาต่อ ในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะมีพระราชภารกิจ โดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ไปเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ แต่ก็ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ ในการเรียนอย่างยิ่ง และยังทรงร่วม กิจกรรมของคณะ และของมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับนิสิตทั่วไป ในปีการศึกษา ๒๕๑๙ ทรงสำเร็จการศึกษา และทรงเข้ารับพระราชทานปริญญา อักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง สาขาวิชาประวัติศาสตร์
ในพุทธศักราช ๒๕๒๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสมัครเข้าศึกษาต่อ ระดับมหาบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกันทั้งสองแห่ง ทรงสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปีการศึกษา ๒๕๒๒ หลังจากนั้น ทรงสำเร็จการศึกษา อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาบาลี - สันสกฤต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีการศึกษา ๒๕๒๔ ต่อมา ด้วยความสนพระทัยงานด้านการพัฒนา โดยอาศัยหลักวิชาการศึกษา หรือการเรียนรู้เป็นแกน จึงทรงสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทรงสำเร็จการศึกษา และรับพระราชทานปริญญา การศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ในปีการศึกษา ๒๕๒๙
หลักคิดในการใช้การศึกษาเป็นปัจจัยหลักในการสร้าง และพัฒนาความรู้ ความคิดของประชาชน และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน และสังคม ที่ทรงได้รับจากการศึกษา ในระดับดุษฎีบัณฑิต ผนวกกับประสบการณ์ ที่ทรงเรียนรู้ จากการโดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นพื้นฐานความรู้ที่แข็งแกร่ง ในการทรงงานพัฒนา ของพระองค์เอง ในเวลาต่อมา จวบจนปัจจุบัน
นอกเหนือจากการศึกษาในระบบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ยังสนพระทัยศึกษาเพิ่มเติม ดูงาน ประชุมสัมมนา และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ ในวิชาการด้านอื่น ๆ อีกหลายด้าน เช่น ภูมิศาสตร์กายภาพ อุทกศาสตร์ พฤกษศาสตร์ การจัดการทรัพยากรดินและน้ำ รีโมตเซนซิ่ง ระบบภูมิสารสนเทศ แผนที่ โภชนาการ เป็นต้น ด้วยมีพระราชประสงค์ ที่จะนำความรู้ที่ได้จากวิชาการเหล่านี้ ไปประยุกต์ใช้ในการทรงงานพัฒนาชุมชน และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร
การรับราชการ
หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาแล้ว ในพุทธศักราช ๒๕๒๓ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้ารับราชการเป็นอาจารย์กองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยและสังคมวิทยา ต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๓๐ ได้มีการตั้งกองวิชาประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระยศ พันเอก ทรงดำรงตำแหน่งหัวหน้ากอง (ซึ่งต่อมาได้มีการขยายตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองในพุทธศักราช ๒๕๓๒ พร้อมกับกองอื่น ๆ) ทรงเป็นผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์พระองค์แรกจนถึงปัจจุบัน มีพระราชภารกิจ ทั้งการบริหาร การสอน และงานวิชาการอื่น ๆ ต่อมา ทรงได้รับพระราชทานพระยศ พลเอก ในพุทธศักราช ๒๕๓๙ และทรงได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ (อัตราจอมพล) ในพุทธศักราช ๒๕๔๓ นอกจากนี้ ยังได้ทรงรับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายวิชาการ ณ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยศิลปากร
พระราชกิจ
นอกเหนือจากพระราชภารกิจในหน้าที่ราชการ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ ครอบคลุมงานสำคัญ ๆ อันเป็นประโยชน์หลักของบ้านเมือง เกือบทุกด้าน และทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ให้ทรงปฏิบัติ พระราชกรณียกิจที่ทรงสืบสาน ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ มอบหมาย โดยเฉพาะการทรงงาน ด้านการบริหารองค์การ และมูลนิธิ เพื่อสาธารณกุศล ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย รวมทั้งการเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ และการปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในโอกาสต่าง ๆ เช่น การพระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่าง ๆ เฝ้า ฯ การพระราชทานปริญญาบัตร การถวายผ้าพระกฐิน เป็นต้น
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงจัดตั้งโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนผู้ยากไร้ในชนบท โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพอนามัย และแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ทรงเห็นว่าเด็กจะเรียนหนังสือไม่ได้ ถ้าท้องหิว หรือเจ็บป่วย จึงทรงริเริ่มโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๓ ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ก่อสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ศูนย์การเรียนชุมชนสำหรับชาวไทยภูเขา ห้องเรียนเคลื่อนที่ ทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นค่าตอบแทนครูผู้สอน และทรงจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนพระราชทาน เพื่อให้เยาวชนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่เหมาะสม จะได้มีความสามารถในการพึ่งตนเอง และเป็นที่พึ่งของครอบครัวได้ในอนาคต ทรงติดตามการดำเนินงาน โครงการตามพระราชดำริอย่างใกล้ชิด และเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในโครงการ ด้วยพระองค์เองเสมอ
จากการที่มีประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศล หรือสมทบทุนดำเนินงานโครงการพัฒนาต่าง ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นำเงินที่มีผู้ทูลเกล้า ฯ ถวายดังกล่าวมาจัดตั้งเป็นกองทุน ทุนการกุศลสมเด็จพระเทพ ฯ เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนผู้ทุกข์ยากเดือดร้อน หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์อื่น ๆ
นอกเหนือจากงานพัฒนา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สนพระทัยงานศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง มีพระราชดำริว่า ควรจะมีการถ่ายทอดงานด้านวัฒนธรรมไปสู่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ผ่านกระบวนการจัดการศึกษาอบรม ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้เรียนรู้ ตระหนักความสำคัญ รักและผูกพันในศิลปวัฒนธรรมของชาติ สามารถสืบทอดเพื่อการอนุรักษ์และอาจพัฒนาเป็นอาชีพได้ ทรงสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์และสืบทอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของไทย พระอุตสาหะในการปฏิบัติกิจการอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองและประชาชน เป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรทั่วหน้า จึงทรงได้รับการทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลเกียรติยศ พระเกียรติคุณ ตำแหน่งเกียรติยศ และปริญญากิตติมศักดิ์ จากสถาบัน หน่วยงานและองค์กร ทั้งในราชอาณาจักรและต่างประเทศจำนวนมาก
พระราชจริยาวัตรที่ประชาชนทั่วไปได้เห็นประจักษ์ คือ พระเมตตาและความเอาพระทัยใส่ในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชปณิธานที่จะช่วยเหลือผู้ที่ทุกข์ยาก เดือดร้อนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา พสกนิกรต่างยกย่อง และชื่นชมในพระบารมี ดังนั้น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติที่ทรงมีคุณูปการต่อชาติบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ มาโดยตลอด จึงมีบุคคล หน่วยงาน สมาคม และองค์กรต่าง ๆ ทั้งในราชอาณาจักรและในต่างประเทศ ขอพระราชทานอัญเชิญพระนามาภิไธย และขอพระราชทานนาม ไปเป็นชื่อพรรณพืช และสัตว์ที่ค้นพบใหม่ในโลก รวมทั้งสถานที่ และสิ่งต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและเป็นสิริมงคลสืบไป นอกจากนี้ ยังได้ทรงพระกรุณารับสมาคม สถาบัน และองค์กรต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริ หรือที่มีวัตถุประสงค์ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ที่ทรงให้การสนับสนุน ซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ขาดแคลน หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ไว้ในพระราชูปถัมภ์
งานอดิเรก
ยามที่ทรงว่างจากพระราชกิจ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถโดยทรงมี งานอดิเรกที่สนพระทัย หลายประเภท เช่น ดนตรี งานศิลป์ กีฬา งานสะสม การทัศนศึกษา การอ่านและสะสมหนังสือ ทรงมีหอสมุดส่วนพระองค์ที่จัดเก็บหนังสือหลากหลายประเภท ทั้งที่ทรงเลือกซื้อด้วยพระองค์เองและที่มีผู้ทูลเกล้า ฯ ถวาย และดังเช่นเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการเรียงร้อยอักษร จึงทรงพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วและร้อยกรองไว้เป็นจำนวนมาก มีทั้งประเภทบทความ เรื่องสั้น ความเรียง คำนำ บทกวี บทเพลง เรื่องแปล และสารคดี เป็นต้น รวมทั้งพระราชนิพนธ์ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ซึ่งเปรียบเสมือน “บันทึกการเดินทาง” ที่ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน
ในปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ยังสนพระทัยศึกษาและฝึกฝนเรียนรู้ทักษะภาษาและวิชาการต่าง ๆ อยู่มิได้ขาด เช่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน เทคโนโลยีสารสนเทศ ดาราศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น พระปรีชาสามารถด้านภาษา เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วหน้า นอกจากนี้ ยังสนพระทัยเข้าร่วมการประชุม แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ทรงศึกษาดูงาน และทรงพบปะสนทนากับปราชญ์ด้านต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ เพื่อทรงรับความรู้ใหม่ ๆ และทันสมัยอยู่เสมอ
พระราชพิธีสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์
ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนม์ ๕๐ พรรษาบริบูรณ์ นับเป็นมหามงคลสมัยอันประเสริฐยิ่ง กอปรด้วยเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัตินับได้หมื่นวันเศษ ซึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ฉลองสมโภช ทรงพระราชดำริ เพื่ออนุวัตรตามโบราณบูรพราชประเพณี อันมีมาแต่ก่อน
อนึ่ง ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ทรงพระเจริญเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ ปฏิบัติพระองค์ตามขัตติยราชกุมารี สนองพระเดชพระคุณ ในพระราชภารกิจ ที่ทรงมอบหมายแทนพระองค์ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี กอปรทั้งมีพระหฤทัย เปี่ยมไปด้วยความรักชาติ ศาสนา และมีพระหฤทัยจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง ในมหามงคลสมัย การพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษานี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เพื่อเป็นพระเกียรติประวัติ ตามโบราณราชประเพณี ในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษานี้
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ตามควรเหมาะสม แก่กาลสมัย และการสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์ โดยในวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐ เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เสด็จออกมหาสมาคม และสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์
วันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง
เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทางพระทวารเทวราชมเหศวร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ บนพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านไขพระวิสูตร เจ้าพนักงานชูพุ่มดอกไม้ทองให้สัญญา ชาวพนักงานกระทั่งแตรมโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ขณะนั้น ทหารบก ทหารเรือ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ ๒๑ นัด สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ครั้นสุดเสียงประโคมแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร นายกรัฐมนตรีและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคลตามลำดับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสตอบ จบแล้ว แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้อาลักษณ์กองประกาศิต สำนักนายกรัฐมนตรี อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ให้ทรงรับพระราชบัญชา และสัปตปฎลมหาเศวตฉัตรเป็นพระเกียรติประวัติสืบไป
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เสด็จขึ้นไปหมอบเฝ้าฯ บนเกยหน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏที่พระเศียร ทรงเจิมที่พระนลาฏ แล้วพระราชทานพระสุพรรณบัฏ จารึกพระนามาภิไธย เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นโบราณมงคล นพรัตนราชวราภรณ์ และเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ขณะนี้ พราหมณ์เป่าสังข์ ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ แล้วมหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านปิดพระวิสูตร เจ้าพนักงานชูพุ่มดอกไม้ทองให้สัญญา ชาวพนักงานประโคมเช่นเวลาเสด็จออก ทหารกองเกียรติยศถวายเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทางพระทวารเทวราชมเหศวร์
ประกาศสถาปนา
(พระปรมาภิไธย) ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ทรงได้รับความสำเร็จในการศึกษาอย่างงดงาม และได้ทรงบำเพ็ญพระองค์ให้เป็นประโยชน์ แก่ชาติบ้านเมืองเป็นอเนกปริยาย เบื้องต้น ได้ทรงศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ทรงสำเร็จการศึกษา สอบไล่ได้คะแนนเป็นที่ ๑ ของประเทศไทย ทั้งประโยคประถมศึกษา และประโยคมัธยมศึกษา แผนกศิลปะ ต่อมาทรงสอบคัดเลือก ได้เข้าศึกษาต่อ ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยที่ทรงพระวิริยะอุตสาหะ และพระปรีชาสามารถในการศึกษาเล่าเรียน จึงทรงสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ ตลอดทุกปีการศึกษา และทรงได้รับรางวัลคะแนนยอดเยี่ยมในวิชาต่าง ๆ อยู่เสมอ อาทิเช่น รางวัลคะแนนยอดเยี่ยมวิชาภาษาฝรั่งเศส และวิชาภาษาไทย เมื่อสำเร็จการศึกษา ก็ทรงได้คะแนนยอดเยี่ยมเป็นที่ ๑ ของคณะอักษรศาสตร์ ทรงได้รับปริญญาบัตร อักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ ๑ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๐ ทรงได้รับคะแนนเฉลี่ย ๓.๙๘ จากคะแนนเต็ม ๔ ทั้งทรงได้รับรางวัลเหรียญทอง เรียนเยี่ยมตลอดหลักสูตรด้วย ปัจจุบันทรงศึกษาต่อระดับปริญญาโท ทั้งที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งนี้ ด้วยทรงตั้งพระหฤทัยแน่วแน่ ที่จะทรงนำวิชาการที่ทรงศึกษาทั้งนั้น มาทำประโยชน์แก่แผ่นดิน
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ได้ทรงพระอุตสาหะ ปฏิบัติกิจการอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง และประชาชนโดยอเนกประการ ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน ไปในการทรงเยี่ยมเยียนราษฎร ตำรวจ ทหาร ในภูมิภาคต่าง ๆ อยู่เสมอ ทุกแห่งหนแม้ในท้องถิ่นทุรกันดารมีภยันตราย ทำให้ทรงทราบถึงการดำเนินชีวิต ปัญหา และอุปสรรคความยากแค้นต่าง ๆ ของบุคคลเหล่านั้นเป็นอย่างดี โดยปรกติจะทรงปราศรัยทักทายกับราษฎรอย่างสนิทสนม ด้วยพระเมตตา ทำให้ราษฎรมีโอกาสที่จะกราบทูลถึงทุกข์สุขที่มีอยู่ได้ตามประสงค์ ทรงถือเป็นภาระที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขตอบแทนบุญคุณเหล่าทหาร ตำรวจ และพลเรือน ที่สละชีวิตและความสุขในการป้องกันประเทศชาติ ได้ทรงก่อตั้งมูลนิธิ ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า “มูลนิธิสายใจไทย” ขึ้น สำหรับอนุเคราะห์ทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่บาดเจ็บ พิการ ในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศชาติด้วยการดูแลให้ฝึกอาชีพ ตลอดจนดูแลช่วยเหลือครอบครัว ไม่ให้รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ทรงดำรงตำแหน่ง องค์ประธานของมูลนิธิ และทรงควบคุมบริหารงานอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้นับว่า ได้ทรงทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง และประชาชน ในประการที่สำคัญประการหนึ่ง ในด้านการพัฒนาประเทศ ทรงสนพระหฤทัยในกิจการพัฒนาทุกแขนง ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงศึกษา และช่วยเหลือ ในกิจการโครงการตามพระราชดำริ ทุกโครงการ ทรงทำหน้าที่เป็นราชเลขานุการส่วนพระองค์ ทรงรับพระบรมราโชบาย และพระราชดำริ มาทรงดำเนินการสนองพระเดชพระคุณ ทั้งในงานด้านเกษตร และด้านการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของราษฎร นับเป็นการดูแลสอดส่อง พระราชกรณียกิจส่วนหนึ่ง ต่างพระเนตรพระกรรณ ได้เสด็จไปทอดพระเนตร การพัฒนาประเทศของประเทศอิสราเอล โดยทรงรับเชิญ เป็นอาคันตุกะ ของรัฐบาลอิสราเอล และการพัฒนาประเทศของประเทศอิหร่าน โดยทรงรับเชิญ เป็นพระอาคันตุกะ ของเจ้าหญิงฟาราห์นาซ พระราชธิดาสมเด็จพระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน เมื่อเดือนเมษายน ศกนี้ ประเทศทั้งสองดังกล่าว นับว่าเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้ามาก ในด้านการพัฒนาประเทศ
ผลจากการที่ได้ไปทอดพระเนตรกิจการต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ ย่อมนำมาใช้เป็นแนวทาง ช่วยในการพัฒนาประเทศไทย ได้เป็นอย่างดี ในด้านการพระศาสนา ก็ทรงมีพระหฤทัยมั่นคงในพระรัตนตรัย ทรงศึกษา และปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา โดยสม่ำเสมอตลอดมา ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พร้อมทั้งทรงสนพระหฤทัย ศึกษาหาความรู้ ด้านพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่น ตลอดจนปรัชญาอย่างแตกฉาน ในส่วนราชการในพระองค์ ก็ได้สนองพระเดชพระคุณ ในพระราชภารกิจที่ทรงมอบหมาย ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี สมพระราชประสงค์ เช่น เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เสด็จแทนพระองค์ ไปทรงร่วมในงานพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้ากุสตัฟ ที่ ๖ อดอล์ฟ ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ก็ได้ทรงปฏิบัติพระภารกิจได้สำเร็จเรียบร้อยเป็นอย่างดี
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระองค์นี้ กอปรด้วยพระจรรยามารยาท เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ แห่งขัตติยราชกุมารีทุกประการ เป็นที่รักใคร่นับถือ ยกย่องสรรเสริญพระเกียรติคุณ กันอยู่โดยทั่วไป บัดนี้ก็ทรงพระเจริญวัย สมบูรณ์ด้วยพระเกียรติคุณดังกล่าวมา สมควรได้รับพระราชทานสถาปนาพระอิสริยยศ และพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น ให้ทรงรับพระราชบัญชา และสัปตปฎลเศวตฉัตร เพื่อเป็นพระเกียรติประวัติสืบไป ตามโบราณขัตติยราชประเพณี
จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพรให้ทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ พิพัฒมงคล วิบุลศุภผล สกลเกียรติยศปรากฏมโหฬารตลอดจิรัฏฐิติกาล เทอญ
ประกาศ ณ วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐ เป็นปีที่ ๓๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
นายกรัฐมนตรี
พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในที่ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศ ตั้งแต่เริ่มตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบันมี ๗๓ พระองค์ ที่ดำรงพระยศ "กรมพระยา" นั้น มีพระองค์เดียว คือ สมเด็จพระบรมมไหยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ส่วนที่ดำรงพระยศรองลงมา คือ "กรมพระ" นั้น ส่วนใหญ่ ได้แก่ สมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ในรัชกาลต่าง ๆ นอกจากนั้นก็เป็นสมเด็จพระบรมอัยยิกาเธอบ้าง พระวิมาดาเธอบ้าง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอบ้าง รวม ๑๓ พระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงเป็นกรมพระ หรือสมเด็จพระ พระองค์ที่ ๑๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และไม่เคยปรากฏว่า พระมหากษัตริย์พระองค์ใด เคยสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า เป็นสมเด็จพระมาก่อน การสถาปนาครั้งนี้ จึงเป็นพระเกียรติยศที่สูงยิ่ง และนำความปลื้มปิติ มาสู่ประชาชนชาวไทยทั่วหน้า
บทคัดลอกจาก เว็บไซต์
http://www.sirindhorn.net/HRH-biography.php
|
|
|