วันที่: 28-11-2013
หน่วยพัฒนาอาชีพ
ด้วยความห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ทุพพลภาพ องค์ประธานมีพระราชดำริให้มีการฝึกอาชีพขึ้นในปี 2523 เพื่อให้สมาชิกสามารถช่วยตนเอง และมีรายได้เลี้ยงครอบครัวเพิ่มขึ้น โดยใช้อาคารสำนักงานของมูลนิธิฯที่ถนนศรีอยุธยา (ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ซึ่งขณะนั้น มีสมาชิกอยู่ไม่กี่คนเรียนเย็บผ้าอยู่ มีประเภทผ้าขาวม้าบ้าง เสื้อเด็กนักเรียนบ้าง ต่อมามีทหารที่เป็นสมาชิกสายใจไทย เคยเรียนเย็บประเป๋าอยู่ที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ มาสมัคร จึงได้ทดลองเย็บกระเป๋าหนังประกอบผ้า ส่งขายที่ร้านจิตรลดา เป็นการเริ่มฝึกอาชีพแขนงแรก โดยมีคุณปรีดา เลิศดำริห์การเข้ามาช่วยดูแลในด้านงานหนัง และมีท่านผู้หญิงพึงใจ สินธวานนท์ เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องงานแก้ว เป็นการแกะลวดลายด้วยมีดคัตเตอร์ บนแก้วรูปทรงต่างๆแล้วนำไปพ่นทราย ต่อมาได้พัฒนามาแกะบนวัสดุต่างๆ เช่นไม้ ฯลฯ ซึ่งก็ได้คุณภาพดีเท่าเทียมกัน
เนื่องจากสถานที่ตั้งที่ถนนศรีอยุธยา คับแคบมาก สมาชิกที่มาปฏิบัติงาน ที่ประสงค์จะพักที่สำนักงาน จะต้องนอนระหว่างโต๊ะทำงาน โดยมีที่นอนและมุ้งแจก เช้าขึ้นก็เก็บเข้าห้องเก็บของ จะมีอาหารพระราชทานตอนกลางวันและเย็น เมื่อกิจการขยายใหญ่ขึ้น ได้จัดให้มีอาคารที่พักด้านหลังสำนักงาน มีครูมาสอนเป็นเรื่องเป็นราว มีสมาชิกเพิ่มขึ้น สถานที่ที่ถนนศรีอยุธยาแออัดมาก ในปี 2541 หน่วยฝึกอาชีพได้ย้ายไปอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของหน่วยฝึกฯถนนสรรพาวุธ บางนา บนเนื้อที่ 13 ไร่ ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธร จุฑาธุช ถวายให้สมเด็จองค์ประธาน และได้โปรดให้สร้างเป็นศูนย์ใหญ่สำหรับฝึกอาชีพสำหรับสมาชิกและครอบครัว สถานที่ตั้งแห่งนี้ มีทั้งอาคารปฏิบัติงาน ห้องแสดงสินค้า อาคารฝึกอาชีพ อาคารหอพักและห้องสันทนาการ ครบวงจร
งานฝึกอาชีพมีการขยายเพิ่มอีกหลายแขนง การฝึกมีการพัฒนาให้มีความเชี่ยวชาญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ชิ้นงานแต่ละชิ้นจะประณีตเพราะเป็นงานฝีมือ จึงเปลี่ยนชื่อจากหน่วยฝึกอาชีพมาเป็น หน่วยพัฒนาอาชีพ การฝึกอาชีพที่หลากหลายสาขา อาทิ
งานเครื่องหนัง โดยนำหนังทั้งหนังแท้และหนังเทียม ผ้าไหม ผ้าฝ้าย เครื่องสาน และวัสดุต่างๆ ประกอบกันเป็น กระเป๋า เครื่องใช้หลากหลาย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์งานฝีมือ
งานแกะลวดลายบนแก้ว นำแก้วรูปทรงต่างๆมาแกะลวดลายด้วยมีดคัตเตอร์ แล้วพ่นทราย ขณะนี้ได้นำมาพัมนาแกะลายบนไม้และวัสดุอื่นๆ ซึ่งได้ชิ้นงานที่วิจิตรแพรวพราว ตามลักษณะรูปทรง
งานพู่กันระบายสี บนแผ่นกระเบื้องเคลือบและบนวัสดุอื่นๆ เช่น ไม้ หนัง แก้ว ผ้า ดินเผา ฯลฯ
งานไม้ ผลิตภัณฑ์ขนาดย่อม ทำจากไม้ เพื่อประกอบเป็นวัตถุดิบส่งต่อให้แผนกอื่นนำไปใช้ เป็นการลดต้นทุนการผลิตไปในตัว
งานตัดเย็บ ที่มาจากผ้าที่ได้รับบริจาค จากผู้มีจิตศรัทธา มาเป็นผลิตภัณฑ์งานผ้า เช่นเสื้อผ้าไหม หมอนอิง กระเป๋าแบบต่าง ๆ สิ่งประดิษฐ์ด้วยผ้าเป็นของที่ระลึกต่าง ๆ
งานสวน ที่ปลูกผัก hydroponic พืชผักสวนครัว ผักพื้นบ้าน และกล้วยไม้
นอกจากนี้ยังมีสินค้าพิเศษตามโอกาส เช่น ส.ค.ส. บัตรเอนกประสงค์ และเสื้อโปโลที่ผลิตในแต่ละเทศกาล
|
|
|